ค้นหาสินค้า

การขนส่งสินค้าผ่านแดน

30-06-2022 22:51:56

การขนส่งสินค้าผ่านแดนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ เป็นการเปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดของประเทศอื่นเพื่อทำการค้าขายและการลงทุน ดังนั้น ประชาคมระหว่างประเทศ จึงสนับสนุนให้ทุกประเทศมีสิทธิในการขนส่งสินค้าผ่านแดนอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิในการขนส่งสินค้าผ่านแดนนั้นถูกจำกัดขอบเขตในการใช้สิทธิโดยอำนาจอธิปไตยของประเทศทางผ่าน โดยประเทศทางผ่านย่อมมีอำนาจอธิปไตยในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บุคคลหรือสิ่งของของประเทศอื่นใช้ดินแดนของตนเป็นทางผ่านด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศในเรื่องอำนาจอธิปไตย

ด้วยเหตุดังกล่าวว จึงนำไปสู่การทำความตกลงระหว่างประเทศในการสนับสนุนการขนส่งสินค้าผ่านแดน ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน หรือสนับสนุนให้การขนส่งสินค้าผ่านแดนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วยความตกลงในเรื่องต่าง ๆ เช่น การศุลกากร การรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดน

การส่งสินค้าระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียนและความตกลงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

หลังจากประเทศไทยเข้าร่วมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อปี พ.ศ. 2558 ส่งผลให้ 10 ประเทศในอาเซียนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และมีอำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้านอกภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศในอาเซียนเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นก็มีการรวมกลุ่มกันของประเทศ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และ สิงคโปร์ รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนานและกวางสี) ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกัน และมีการขนส่งสินค้าระหว่างกัน ภายใต้แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cooperation – GMS) ส่งผลให้เกิดการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 แนว ได้แก่ แนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor – EWEC) แนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor – NSEC) และแนวตอนใต้ (Southern Economic Corridor – SEC) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนจำเป็นต้องมีการขนส่งสินค้าผ่านดินแดนประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ดังนั้นกฎระเบียบต่าง ๆ จึงถูกบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางกลุ่มประเทศอาเซียน จึงเป็นทางผ่านสินค้าระหว่างประเทศ จำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ โดยการให้เสรีภาพการผ่านแดนของสินค้าที่มาจากประเทศภาคีอื่น

สำหรับกฎหมายด้านความตกลงในระดับอาเซียนและความตกลงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ได้แก่

  1. กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน พ.ศ. 2541 (ASEAN Framework Agreement on The Facilitation of Goods in Transit: AFAFGIT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนในอาเซียน สนับสนุนการดำเนินการของเขตการค้าเสรีอาเซียนและเพิ่มความเป็นเอกภาพของเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีศุลกากรในสินค้าผ่านแดน การบังคับใช้กฎหมายและระเบียบภายในของประเทศภาคีอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ เป็นต้น
  2. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2542 (Greater Mekong Subregion Cross-Border Transport Facilitation Agreement: GMS CBTA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการอำนวยความสะดวกพิธีการข้ามเขตแดน โดยทำพิธีการผ่านแดนร่วมกัน เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนพิธีการศุลกากรและเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
  3. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน 8 สาขา โดยความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าผ่านแดน ได้แก่ความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ปัญหาและอุปสรรคในการส่งสินค้าผ่านแดน

จากการสำรวจปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย กฎระเบียบ ความตกลงระดับภูมิภาค รวมถึง ความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งสินค้าผ่านแดน พบประเด็นปัญหาใน   2 ด้านหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

ประเด็นปัญหาในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อตกลงระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับสินค้าผ่านแดน ได้แก่ 1) กฎหมายและกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนมีจำนวนมาก และยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2) ความไม่สอดคล้องกันของแบบฟอร์มเอกสารผ่านแดน และ 3) การบังคับใช้ความตกลงระดับภูมิภาคเป็นไปอย่างไม่เต็มที่ ประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ ทำให้ต้นทุน และระยะเวลาในการขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น และมีสินค้าติดค้างอยู่บริเวณด่านศุลกากรเป็นจำนวนมาก

สำหรับประเด็นปัญหาจากสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้แก่ 1) เส้นทางคมนาคมไม่สะดวก 2) ความแออัดที่ด่านชายแดน 3) จุดพักรถไม่เพียงพอ 4) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ 5) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดนของ สปป. ลาว ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น และ 6) รถบรรทุกไทยไม่สามารถเข้ามาเลเซียและเมียนมาได้ ซึ่งประเด็นปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดนของผู้ประกอบการไทยและการขนส่งสินค้าผ่านเขตแดนไทยของผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะด้านต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้า

นอกจากนี้จากการศึกษายังพบอีกว่า กฎหมายของประเทศไทยยังคงมีมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการผ่านแดนของสินค้าตามหลักสากลหรือความตกลงระดับภูมิภาค อีกทั้งข้อตกลงระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคบางอย่างก็ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งสินค้าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งเส้นทางคมนาคมไม่สะดวก ความแออัดที่ด่านชายแดน ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ดังนั้น หากมีการปรับปรุงพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนให้มีความสอดคล้องกับหลักการผ่านแดนของสินค้าตามหลักสากลหรือข้อตกลงระดับภูมิภาค และสร้างมาตรฐานให้เป็นหนึ่งเดียวกันของข้อตกลงระดับภูมิภาค รวมถึงพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้วนั้น จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น อีกทั้งเป็นโอกาสในการพัฒนาและเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุนของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย

ข้อเสนอเชิงนโยบายในการลดอุปสรรคการขนส่งสินค้าผ่านแดน

จากผลการศึกษาทั้งหมดได้นำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยแบ่งแนวทางปฏิบัติออกเป็นแผนปฏิบัติการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

โดยแผนปฏิบัติการระยะสั้น จะมุ่งเน้นไปที่การเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเพิ่มระยะเวลาการประชาสัมพันธ์รวมถึงการสร้างความเข้าใจต่อผู้ปฏิบัติงานก่อนบังคับใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบฉบับใหม่

ถัดมาเป็นแผนปฏิบัติการระยะกลาง มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา โดยการลดหรือนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันมารวมกันให้เหลือเท่าที่จำเป็น แก้ไขกฎหมายให้ง่ายต่อการปฏิบัติตามและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้กระบวนการ Regulatory Guillotine ในการยุบรวมหรือยกเลกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และการใช้หลักเกณฑ์ในการทบทวนที่เป็นระบบ ผลักดันให้ประเทศในกลุ่ม CLMVT ( กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ใช้แบบฟอร์มเอกสารผ่านแดนรูปแบบเดียวกัน และผลักดันเชิงนโยบายในระดับภูมิภาคให้ประเทศในอาเซียนปฏิบัติตามความตกลง AFAFGIT และ GMS CBTA ซึ่งในกระบวนการแก้ไขต้องมีขั้นตอน การบูรณาการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนที่จะมีการประกาศใช้ รวมถึงประเมินผลได้ผลเสีย ตลอดจนการเจรจาและผลักดันข้อตกลงระหว่างประเทศให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

สุดท้ายคือ แผนปฏิบัติการระยะยาว ควรมุ่งเน้นการแก้ไขในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ด่านศุลกากร เส้นทางคมนาคม และถนนทางหลวงพิเศษ ปรับปรุงเส้นทางการขนส่งสินค้า ปรับปรุงพื้นผิวการจราจร และขยายถนนภายในประเทศ ปรับปรุงขยายด่านพรมแดนให้สามารถรองรับจำนวนคนและสินค้าข้ามแดนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกำหนดพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV นอกจากนั้นควรสร้างจุดพักรถและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้ครอบคลุมเส้นทางการขนส่งทั่วประเทศ

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “ผลกระทบของการปรับปรุงกฎหมายและการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งสินค้าผ่านแดนต่อการค้าและการลงทุนของประเทศไทย”

หัวหน้าโครงการ : ชาติชาย เขียวงามดี
สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

เรียบเรียง นพรดา คำชื่นวงศ์
กราฟิก ชนกนันท์  สราภิรมย์